เทคนิคการหางานดีๆทำ-การต่อรองเงินเดือนตอนสัมภาษณ์งาน

หลักการต่อรองเงินเดือน

ก่อนที่จะมาถึงขั้นต่อรองเงินเดือน เราต้องเข้าใจถึงสาเหตุของการย้ายงานก่อนว่า ทำไมถึงออกจากงานที่เก่า และทำไมถึงอยากได้งานที่ใหม่ อีกทั้งต้องศึกษาและวิเคราะห์ถึงตลาดของอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่าเป็นไปในทิศทางใด และบริษัทเขาเป็นที่รู้จักมากแค่ไหน มีสิทธิที่จะเลือกผู้สมัครคนอื่นๆได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านั้นเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างอำนาจเพื่อการต่อรองเงินเดือน และก่อนที่จะต่อรองเงินเดือน ต้องหาและเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อน โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมมีดังนี้
1) อัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยที่จะได้สำหรับตำแหน่งที่สมัครไว้ ข้อมูลตรงนี้อาจหาได้จากเว็บไซด์จัดหางาน หรือถามจากเพื่อนๆหรือคนที่รู้จัก

2) สวัสดีการต่างๆที่ควรจะได้ ซึ่งแต่ละอาชีพและแต่ละตำแหน่งจะมีสวัสดีการที่ควรจะได้ไม่เหมือนกัน อย่างเช่น เซลล์ก็จะมีค่านายหน้า ค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมรถ ค่าโทรศัพท์ งบสำหรับเลี้ยงลูกค้า เป็นต้น

3) อ้างถึงการก้าวหน้าของเงินเดือนเมื่อต้องตัดสินใจเปลี่ยนงาน หลักการข้อนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะใช้สำหรับต่อรองเงินเดือนเพราะอาจจะถูกอ้างกลับมาว่าถ้าย้ายงานมาที่ใหม่ก็ต้องเริ่มเรียนรู้ระบบการทำงานใหม่ อีกทั้งถ้าเป็นสินค้าใหม่ก็ต้องเสียเวลาไปอบรมกันอีก จึงควรใช้อ้างถึงแนวทางและอุดมการณ์ของตนเองว่า ถ้าจะย้ายงานใหม่ทั้งทีก็ต้องมีความก้าวหน้าของเงินเดือนประมาณ 20-30% มิฉะนั้นจะย้ายงานให้เหนื่อย และมีความเสี่ยงจากการทำงานที่ใหม่ไปทำไม ความเสี่ยงจากการทำงานที่ใหม่ได้แก่ เจ้านายใหม่ที่ไม่รู้นิสัยใจคอ การเมืองและวัฒนธรรมขององค์กร

4) สิ่งที่องค์กรคาดหวัง ลองคิดถึงสิ่งที่องค์กรคาดหวังจากสิ่งที่ได้จากตำแหน่งตรงนี้ อย่างเช่น เซลล์ สิ่งที่องค์กรคาดหวังคือการทำยอดให้ได้ตามที่องค์กรกำหนด ดังนั้นเราจึงต้องแสดงให้เห็นว่า ทัศนคติ ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ที่สั่งสมมาจะสร้างความมั่นใจได้ว่า เรานี่แหล่ะที่ถ้าคุณจ้างผม ผมจะทำได้อย่างที่คุณคาดหวัง

5) ข้อดีของตัวเราเอง ก่อนที่จะไปต่อรอง เราต้องสื่อให้ผู้สัมภาษณ์รู้ถึงจุดเด่นและข้อดีของตัวเราเอง และสร้างความมั่นใจว่า จำนวนเงินที่เขาจ้างเราไปนั้นจะสามารถสร้างงาน หรือ ดูแลงานได้อย่างที่เขาคาดหวังได้ นอกจากที่จะบอกถึงจุดเด่นและข้อดีที่เป็นโดยรวม ต้องไม่ลืมที่จะยกตัวอย่างงานโดยละเอียดให้เห็น งานที่เป็นผลงานที่โดดเด่นในช่วงเวลา 3 ปีเป็นต้น หากยังไม่มีประสบการณ์ทำงานมากนักก็อาจเล่าถึงกิจกรรมสมัยเรียน หรือ หากมหาลัยดังๆอย่างจุฬา ก็อาจบอกได้ว่าเป็นคนขยันเป็นต้น

 

ข้อควรระวัง

1) ผู้สัมภาษณ์อาจถามถึงเหตุผมที่ ทำไมต้องเงินเดือนขึ้นหลังจากย้ายงาน ทั้งๆที่เมื่อย้ายงานก็ต้องเรียนรู้กันใหม่

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ต้องขึ้นอยู่กับกรณีของผู้สมัครว่าย้ายงานด้วยสาเหตุอะไร หากย้ายงานด้วยสาเหตุ ทำตำแหน่งใหม่ที่เป็นระดับสูงขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เหมาะสมที่จะได้รับเงินเดือนขึ้นเนื่องด้วย งานใหม่เป็นงานที่ต้องใช้ประสบการณ์ ความสามารถ และ ความรับผิดชอบมากขึ้น แต่อาจต้องยอมรับเล็กน้อยว่า ย้ายงานใหม่อาจจะต้องเรียนรู้กับบ้าง ก็อาจไม่ได้ขอเงินเดือนที่เป็นค่าเฉลี่ย แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย อย่างเช่น เงินเดือนของตำแหน่งวิศวกรอยู่ที่ 30,000-50,000 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 แต่เราอาจขอแค่ 38,000 เป็นต้น  แต่หากย้ายงานเนื่องด้วยไม่ชอบงานที่ทำอยู่ หรือ เปลี่ยนสายงาน ก็อาจจะไม่สามารถต่อรองเงินเดือนได้มากนัก แต่เราก็สามารถตอบได้ว่า เงินเดือนที่เรียกนี้ เรียกตามค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่ควรจะได้สำหรับตำแหน่งนี้
2) การสัมภาษณ์ รวมถึงการต่อรองเรื่องเงินเดือน
เราไม่ควรจะโกหก แต่อาจบอกไม่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่พูดถึงเงินเดือนที่เก่า เราอาจจะบอกโดยรวม ซึ่งรวมถึงสวัสดีการต่างๆด้วย และไม่ควรโกหก เพราะหากทางบริษัทขอหลักฐานเงินเดือนของที่เก่า ก็จะมีปัญหาได้
3) ผู้สัมภาษณ์อาจถามถึงว่า ให้เปรียบเทียบกับผู้สมัครอีกคน ว่าทำไมทางบริษัทถึงต้องเลือกคุณ

คำถามนี้ค่อนข้างยากที่จะตอบเนื่องด้วยต้องขึ้นกับตำแหน่งงานที่จะได้สมัครไว้ คำตอบที่เหมาะสมคือ เริ่มด้วยการสรุปลักษณะและบุคลิกของคนที่จะเหมาะกับงานนั้นๆก่อน จากนั้นก็พูดถึงตัวเองว่ามีทัศนคติ ลักษณะบุคลิก ความรู้ ความสามารถและ ประสบการณ์กับงานนั้นจริงๆ ไม่ควรแสดงความมั่นใจจนมากเกินไปเพราะจะดูเป็นคนที่มั่นใจตนเองเกินไป ควรจะแสดงตัวในลักษณะกลางๆ และให้ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้ตัดสินใจอีกทีหนึ่ง
4) ผู้สัมภาษณ์อาจอ้างเรื่องระเบียบและมาตรฐานขององค์กร ว่าทางบริษัทมีมาตรฐานและมีการกำหนดเงินเดือนที่จะให้ในระดับหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เราเองควรจะมีจุดยืนและตัดสินใจว่า ความรู้ใหม่ และโอกาสที่เกิดขึ้นที่จะได้รับ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือน พยายามมองภาพในระยะยาวจะทำให้ไม่เสียโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิต