เทคนิคการหางานดีๆทำ-คุณเองก็มีสิทธ์เลือกงาน
ไม่ใช่งานเท่านั้นที่มีสิทธ์เลือกคุณ คุณเองก็มีสิทธ์เลือกงาน…
การสัมภาษณ์งานเป็นกระบวนการที่ทำให้ทั้งว่าที่นายจ้างและว่าที่ลูกจ้างมาพบปะ แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ประกอบการตัดสินใจว่าทั้งสองฝ่ายยินยอมทำงานร่วมกันหรือไม่ เหมือนกับการซื้อขาย การซื้อการขายเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ซื้อเต็มใจซื้อและผู้ขายก็ยินยอมขายเช่นกัน ในกระบวนการนี้ไม่มีใครสามารถบังคับใครได้
การจ้างงานก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นความยินยอมของทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ถ้านายจ้างเลือกคุณ แต่คุณไม่เลือกเขา หรือคุณยินยอมเป็นที่สุด แต่นายจ้างปฏิเสธ การจ้างงานก็ไม่มีทางเกิด ดังนั้น เพื่อความยุติธรรมของทั้งสองฝ่าย การได้มีโอกาสมาพบหน้าค่าตา ทำความรู้จักกัน เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนการจ้างงานเกิดขึ้น คุณได้รู้ว่างานที่ต้องทำ องค์กรที่ต้องอยู่เป็นอย่างไร นายจ้างก็ได้รู้ว่าคุณมีคุณสมบัติเหมาะสมกับงานและองค์กรหรือไม่
อย่าคิดว่าคุณเป็นแค่ตัวเลือกหนึ่งของนายจ้าง แต่จงคิดว่าถ้าคุณไม่พอใจกับงาน และองค์กรที่คุณได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสในวันสัมภาษณ์งานแล้ว คุณก็สามารถปฏิเสธนายจ้างได้เช่นกัน
การสัมภาษณ์งานจึงมีความสำคัญอย่างมาก คุณต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับงานที่คุณต้องทำ เกี่ยวกับบริษัท ขอให้ถามจากผู้สัมภาษณ์คุณให้ละเอียด ให้หายข้องใจ เพื่อนำข้อมูลนั้นมาเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจต่อไป
ปกติแล้วผู้สัมภาษณ์งานจะอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับงานให้คุณรู้ว่าต้องทำอะไร อย่างไร มีขอบเขตของงานแค่ไหน ให้คุณมองภาพการทำงานออก แล้วเปิดโอกาสให้คุณถามกลับ ในเวลานั้นหากมีข้อสงสัย ให้คุณถามทันที อย่าปล่อยให้ผ่านไป เพราะอาจไม่มีครั้งที่ 2 ให้ถามอีกก็ได้ อาจถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่เขาอธิบายให้ฟัง ถามเกี่ยวกับระบบการทำงาน วัฒนธรรมขององค์กรก็ได้ เรื่องหลังนี้คุณอาจหาข้อมูลจากที่อื่นได้ยาก ควรใช้ประโยชน์จากผู้ที่อยู่ตรงหน้าคุณในห้องสัมภาษณ์ให้มากที่สุด แต่จงทำให้พอเหมาะ ไม่ใช่ดูไม่ออกเลยว่าใครกำลังสัมภาษณ์ใครอยู่
ถ้าได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว คุณรู้สึกไม่ชอบงานหรือองค์กรเลย สามารถปฏิเสธได้ ไม่ผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด เพียงเลือกใช้คำปฏิเสธให้เหมาะสมเท่านั้น เช่น
จากที่ได้ฟังลักษณะงานทั้งหมดมา คิดว่าดิฉันคงไม่เหมาะกับงานนี้ เพราะดิฉันไม่ถนัดงานเกี่ยวกับตัวเลขเยอะๆและคงไม่มีความสุขถ้าต้องอยู่กับมันตลอดเวลา. ..
ตามที่คุณบอกว่าผมต้องออกไปติดต่องานต่างจังหวัดบ่อยๆ ถึงอาทิตย์ละสองสามครั้ง แถมบางทีต้องค้างคืนด้วย ผมคิดว่าผมคงทำงานนี้ไม่ได้ครับ เพราะผมมีแม่ซึ่งไม่ค่อยสบายอยู่ที่บ้าน ถ้าผมไม่อยู่ตอนกลางคืนก็ไม่มีใครดูแลท่านครับ
ให้บอกเหตุผลไปตามความจริง แล้วคำปฏิเสธนั้นจะไม่ทำร้ายใคร ไม่ใช่เหตุผลจริงๆ คือ เงินเดือนที่บริษัทเสนอให้น้อยเกินไป แต่คุณไปบอกว่าปัญหาอยู่ที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างจังหวัดได้บ่อยๆ ถ้าบริษัทพอใจคุณ และทางออกให้กับปัญหานี้ ด้วยการเสนอตำแหน่งที่ไม่ต้องออกต่างจังหวัดให้คุณแทน เขาแก้ปัญหาให้คุณถูกจุดหรือ?
ความจริงเป็นสิ่งที่คุณควรพูดออกมา อย่าเบี่ยงประเด็น หากมีข้อขัดข้องสงสัยระหว่างกันให้สอบถาม แล้วหาทางออกร่วมกัน ถ้าตกลงกันได้ทั้งสองฝ่ายก็จบ ปิดการขายได้ แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอาการลังเล ไม่อยากซื้อ หรือไม่อยากขายขึ้นมาก็จบเหมือนกัน คือ ปิดการขายไม่ได้ ต้องไปเสนอขายให้คนอื่นต่อ ก็เท่านั้น
แต่ถ้าได้ฟังรายละเอียดทั้งหมดแล้ว เกิดชอบและอยากทำงานนั้นขึ้นมา คุณสามารถแสดงความตั้งใจจริง ความสนใจต่องานผ่านคำพูด สีหน้า และแววตา คุณคงไม่สามารถบอกผู้สัมภาษณ์ได้ตรงๆ ว่า ผมชอบงานนี้ ขอให้ผมทำเถอะ ดิฉันอยากทำงานนี้ คุณรับดิฉันนะคะ การแสดงออกผ่านคำพูด สีหน้า และแววตาจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด มันจะบอกให้ผู้สัมภาษณ์รู้โดยนัยว่าคุณชอบ สนใจ และอยากทำงานนี้ เช่น อาจพูดว่า
ดิฉันชอบงานที่ต้องติดต่อกับคนมากๆ อย่างนี้ค่ะ มันจะทำให้ดิฉันมีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้คนมากขึ้น
ผมคิดว่าถ้าผมมีโอกาสทำงานตำแหน่งนี้ ผมสามารถแก้ปัญหาสภาพแรงงานที่คุณพูดถึงได้แน่นอน
หรืออาจแสดงสีหน้าว่าคุณพอใจลักษณะงานที่ผู้สัมภาษณ์กำลังพูดถึง มีการถามกลับในข้อมูลที่อยากรู้ มีแววตาที่มุ่งมั่นในการตอบคำถามทุกๆ คำถาม
การแสดงออกเหล่านี้สามารถบอกให้ผู้สัมภาษณ์รู้ได้แน่นอนว่า คุณชอบ พอใจ และอยากทำงานนี้มากแค่ไหน โดยคุณไม่ต้องพูดออกไปตรงๆ เมื่อเขารู้ว่าคุณพอใจ และบังเอิญว่าเขาก็พอใจคุณด้วยเช่นกัน โอกาสที่คุณได้งานก็มีมากขึ้น นอกเสียจากว่าเขาจะพอใจคนอื่นๆ ที่พอใจเขาเหมือนกับคุณอีกหลายคน อันนี้ต้องลุ้นกันต่อไป
เมื่อบริษัทถามข้อมูลทุกอย่างของคุณที่เขาอยากรู้ได้ คุณเองก็มีสิทธิถามข้อมูลทุกอย่างของบริษัทที่คุณอยากรู้ได้เช่นกัน
และเมื่องานมีสิทธิเลือกคุณ คุณเองก็มีสิทธิเลือกงานด้วยเหมือนกัน
จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว