เทคนิคการหางานดีๆทำ-ในวันนัดพบแรงงาน
เป็นอีกแหล่งงานที่น่าสนใจไม่น้อย เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง ไปทีเดียวสมัครได้เป็นร้อยบริษัท (แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของงานด้วยนะ) คำแนะนำคือ เล็กๆ ไม่ (ไป) ใหญ่ๆ ไป เพราะอะไรนะหรือ…ก็ไปทั้งทีต้องให้คุ้มกันหน่อย
งานใหญ่ๆ มีบริษัททั้งน้อยใหญ่มาให้คุณเลือกเพียบ แต่ละบริษัทก็หวังจะได้ใบสมัครจากงานนี้กลับไปพิจารณาเพียบเหมือนกัน งานนี้ Demand เจอ Supply อย่างจัง ส่วนงานเล็กๆ ก็มีแต่บริษัทปลาซิวปลาสร้อยทั้งนั้นแถมบางบูธก็มีแต่ป้ายชื่อบริษัท เจ้าหน้าที่ไม่มาให้เห็นตัว เพราะเขาได้พื้นที่บูธเป็นของแถมจากการลงโฆษณาในหนังสือรับสมัครงานนั่นเอง ทำให้บรรยากาศของงานเงียบเหงาเป็นที่สุด สามารถพบงานแบบนี้ได้บ่อยในห้างสรรพสินค้าชื่อดังทั่วไป
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่างานไหน….เล็ก งานไหน….ใหญ่?
ไม่ยากเลย ดูได้จากจำนวนบริษัทที่มารับสมัครในงานจะมีบอกไว้ตามประกาศ ใบปลิว หนังสือพิมพ์ สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณของบริษัทที่จัดงานด้วยว่าจะใช้สื่อได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นงาน ใหญ่ ต้องมีบริษัทมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 80 -100 บริษัท ถ้าน้อยกว่านั้น ถือเป็นงาน เล็กไปแต่ถ้าคุณมีเวลามากพอจะไปทั้งงานเล็กงานใหญ่ก็ไม่ว่ากัน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ งานใหญ่ที่แนะนำคือ งานที่จัดในมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนใหญ่จะจัดปีละครั้งเท่านั้นเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น
คำแนะนำคือ ถ้าวันนัดพบแรงงานจัดในระยะเวลาที่ใกล้กันมาก เช่น ห่างกันไม่เกิน 1 เดือน ให้คุณเลือกไปงานที่ใหญ่กว่า เพราะบริษัทและตำแหน่งงานที่ไปเปิดรับสมัครจะไม่แตกต่างกันมากนัก….ดีไม่ดีบางบริษัทอาจก๊อบปี้กันมาเลยก็ได้ แล้วจะไปให้เสียเวลาทำไม จริงไหม?????
จัดสรรเวลา บริหารตัวเองและทีมงานให้ดี
เวลาไปสมัครงานในวันนัดพบแรงงาน ควรยกทีมกันไปฉายเดี่ยวดูท่าไม่รุ่งแน่ ทุกคนต้องช่วยกันดูตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ไม่ว่าจากสูจิบัตรที่แจกให้ตอนลงทะเบียนก่อนเข้างาน หรือจากป้ายประกาศตามบูธต่างๆ
ช่วยกันหยิบใบสมัคร สงสัยอะไรก็เข้าไปถามเจ้าหน้าที่ประจำบูธ ถามได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงาน ขอแต่เรื่องเงินเดือนไว้เรื่องเดียวอย่าเพิ่งถามในขั้นนี้ เพราะจะทำให้คุณดูหิวเงินทันตาเห็น เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อยากรู้ แต่กลับไว้ถามเมื่อบริษัทเขาเชิญคุณไปสัมภาษณ์จะดีกว่าฉันว่ามันคงจะไม่ช้าเกินไปนัก ถ้าจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจส่วนหนึ่งของคุณ
เมื่อมั่นใจว่าเดินจนทั่วงานแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการกรอกใบสมัครและเตรียมเอกสารประกอบต่างๆ คุณอาจต้องส่งตัวแทนไปเคลียร์พื้นที่เพื่อหาที่นั่งกรอกใบสมัครก่อนเพราะงานนี้คนจะเยอะมาก ขอย้ำ….เยอะมาก….มาก การทำงานเป็นทีมจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ฉันเชื่อว่า เวลาคุณกำลังกรอกใบสมัครคำถามนี้ต้องมีแน่นอน….เมื่อกี้บริษัทนี้รับตำแหน่งอะไรนะ? ต้องไปส่งใบสมัครบูธที่เท่าไหร่? หลักฐานละ เขาเอาครบชุดหรือเปล่าหรือแค่ทรานคริปต์กับรูปถ่าย (ไม่แน่ใจ)? ไม่แปลกค่ะหลายๆ คนเจอทัดนี้ ไม่มีวันพลาดแน่ ก็ฉันกำลังจะบอก
วิธีอยู่นี่ไง…….
ดินสอ เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องนำติดมือไปด้วย เมื่อยกขบวนเดินสำรวจบูธพร้อมระดมหยิบใบสมัคร ไปบูธไหนเจอตำแหน่งที่ต้องการ ก็หยิบใบสมัครมาเขียนชื่อตำแหน่งลงในช่อง ตำแหน่ง ในใบสมัคร ดูว่าใบสมัครมีเลขที่บูธอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มีก็เขียนลงไปที่มุมขวาบน
หลังจากนั้น ดูว่าเขาต้องการหลักฐานอะไรบ้างบางบริษัทต้องการแค่รูปถ่ายกับทรานสคริปต์เพื่อนำไปพิจารณาเบื้องต้นก่อน แล้วค่อยนัดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าตา ไปกรอกใบสมัครฉบับสมบูรณ์อีกครั้งที่บริษัท ตอนนั้น ถึงจะขอเอกสารประกอบครบชุด ปัจจุบันมีบริษัทใช้วิธีนี้ เพราะง่ายต่อการพิจารณา ไม่ต้องหอบเอกสารที่ไม่จำเป็นกลับไปเป็นขยะที่บริษัท
ถ้าคุณทำตามที่บอกรับรองไม่พลาด ไม่เสียเวลา ฉันเห็นบางคนเดินกลับไปกลับมาระหว่างบูธกับโต๊ะกรอกใบสมัครตั้งหลายรอบ บางทีเดินหาบูธจนเมื่อไปตามกัน พาลไม่ได้ส่งไปสมัครเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่นั่งกรอกอยู่ตั้งนาน จะพลิกหาในสูจิบัตรก็อาจตาลายได้….งานนัดพบแรงงานติดแอร์ทุกงานเมื่อไหร่ล่ะ
แต่ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก ถ้าวันนั้นคุณส่งใบสมัครไม่ทัน สามารถใช้บริการไปรษณีย์ได้ ส่งไปตามที่อยู่บริษัท ส่วนใหญ่จะมีในใบสมัครหน้าแรกหรือหน้าสุด
ท้าย แต่ถ้าไม่มี ลองเดินไปดูที่บูธอีกรอบ บางทีเจ้าหน้าที่อาจไม่ได้เก็บป้ายประกาศที่บูธกลับไป หรืออาจมีที่อยู่บริษัทวางไว้บนโต๊ะ รอให้คุณไปหยิบก็ได้ อย่างที่บอก ไม่ว่าบริษัทไหน เล็ก หรือ ใหญ่ ต่างก็ต้องการใบสมัครกลับไปพิจารณาให้ได้มากที่สุดด้วยกันทั้งนั้น….ดูสิ ขนาดตัวไม่อยู่แล้ว ยังทิ้งที่อยู่ไว้ดูต่างหน้าอีกต่างหาก
จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว