เทคนิคการเปลี่ยนงานใหม่
ประเมินองค์กรที่ตนอยู่ในปัจจุบันต่ำไป ว่าไม่สามารถดูแลความก้าวหน้าในอาชีพได้ เท่ากับการก้าวกระโดดในอาชีพ จากองค์กรภายนอก
ใช่ ว่ามีแต่วงการลูกหนังเท่านั้น ที่มีการซื้อตัวนักเตะเก่งๆ ไปเข้าสังกัดในทีมฟุตบอลที่มีชื่อเสียง ในวงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิง ศิลปิน ดาราก็เปลี่ยนค่ายกันไปมา ในวงการธุรกิจคนทำงานก็เช่นกัน ยังคงมีสงครามแย่งชิงคนเก่งไปทำงานกับองค์กรต่างๆ เมื่อมีความต้องการคนเก่งในตลาดแรงงานสูง แน่นอนคนเก่งจึงสามารถตั้งราคาค่าตอบแทนของตนได้สูง และสามารถเปลี่ยนงานใหม่กันเป็นว่าเล่น
มี บริษัทที่ปรึกษาหลายแห่งได้ทำการสำรวจวิจัย เพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับปัจจัยที่คนเก่งใช้ในการพิจารณาเปลี่ยนงานใหม่ และอัตราความสำเร็จในการเปลี่ยนองค์กร ซึ่งพบว่าคนเก่ง ตัดสินใจผิดพลาดเป็นส่วนใหญ่ และอัตราความสำเร็จในการทำงานกับที่ใหม่นั้น อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ความผิดพลาดใหญ่ ๆ ในการเปลี่ยนย้ายงาน มีอยู่ 5 ประการ ดังนี้
1. ไม่ทำการวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ในปัจจัยที่ใช้พิจารณาเปลี่ยนงาน เช่น ไม่ศึกษาสภาพการจ้างงานในตำแหน่งสำคัญๆ ในตลาดแรงงานของมืออาชีพ ไม่ทำการบ้านให้มากพอในการรู้จักองค์กรที่จะไปทำงานด้วย ไม่ค่อยใส่ใจจะลงลึกเรื่องความมั่นคงทางด้านการเงินของนายจ้าง มองข้ามหรืออาจให้ความสำคัญน้อยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรใหม่ และที่สำคัญไม่วิเคราะห์รายละเอียดของเนื้องาน และตำแหน่งงานที่จะไปทำให้ชัดเจน เมื่อไม่นำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียด ก็เป็นเหตุให้การไปทำงานกับที่ใหม่ไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีสมราคา จนตัวเองก็ขาดความมั่นใจ ท้ายสุดก็ต้องเปลี่ยนงานไปที่ใหม่อีกต่อๆ ไป
2. คำนึงถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ คน เก่งมักถูกทาบทามจากบริษัทจัดหางาน ด้วยการเสนอ Package ที่ดึงดูดใจ จริงอยู่ตอนที่คิดว่าจะเปลี่ยนงานนั้น ตั้งใจจะพิจารณาเรื่องชื่อเสียงองค์กร ความน่าสนใจและท้าทายของงาน ความสะดวกในการเดินทาง ฯลฯ แต่ครั้นพอจะตัดสินใจ เรื่องเงินกลายเป็นแรงจูงใจและให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง หลาย คนจึงทนความใจป้ำของนายจ้างคนใหม่ไม่ไหว ครั้นพอเข้ามาที่ใหม่แล้ว จึงเห็นชัดว่า มีความเสี่ยงหลายเรื่อง ซึ่งไม่ได้ไตร่ตรองมาก่อน
3. มักพิจารณาหาเหตุผล เพื่อตัดสินใจจะจากที่เดิม มากกว่าตั้งใจพิจารณาเหตุผลในการเข้าไปร่วมงานในที่ใหม่ คน เก่งที่ได้รับข้อเสนอเป็น Package ที่น่าสนใจนั้น อาจทำให้ตกหลุมพรางทางจิตวิทยา นั่นคือ การค้นหาเหตุผลต่างๆ ที่ยืนยันว่า สมควรจะเดินจากองค์กรเดิมไปยังที่ใหม่ และไม่ให้เวลาในการค้นหาความต้องการที่แท้จริง หรือค่านิยมของตน รวมถึงจุดมุ่งหมายและการวางแผนเส้นทางอาชีพของตน การตัดสินใจจึงอยู่ในกรอบที่คับแคบ มีโอกาสเสี่ยงสูง
4. ประเมินตนเองสูงเกินจริง คน เก่งที่ก้าวหน้า ขึ้นมาโดดเด่นในองค์กร อาจมีความรู้สึกว่า ตนเองนั้นทำผลงานมากมายให้องค์กร เป็นคนมีศักยภาพความสามารถพร้อม และอาจประเมินองค์กรที่ตนอยู่ในปัจจุบันต่ำไปว่า ไม่สามารถดูแลความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพได้ เท่ากับการที่ตนเองจะไปแสวงโชค หาทางก้าวกระโดดในอาชีพได้จากองค์กรภายนอก คนเก่งหลายคนอาจลืมคิดไปว่า ที่ตนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับอยู่ขณะนี้ อาจเป็นเพราะได้มีทีมงานที่ดี ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายอื่นๆ ดี ทิศทางนโยบายขององค์กรถูกต้อง ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีส่วนประกอบมาจากหลายด้าน และไม่ใช่ความสามารถล้วนๆ ของตนเองทั้งหมด ความเชื่อมั่นในตนเองสูง ก็เป็นเหตุให้ไม่คำนึงถึงรายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้
5. กดดันตัวเองมากเกินไป เมื่อมีคนมาทาบทาม ระยะ เวลาในการตัดสินใจเหมือนจะถูกเร่งรัดมากยิ่งขึ้น บางครั้งคิดไปเองว่า ถูกกดดันโดยสังคม เพราะไปคุยกับที่ใหม่หลายครั้งแล้ว ครั้นจะปฏิเสธ ไม่รับข้อเสนอที่น่าสนใจจากเขา ก็รู้สึกลำบากใจ การ กดดันต่างๆ เหล่านี้ เป็นตัวแปรแทรกซ้อน ที่ไล่ต้อนความคิดในการตัดสินใจของเราให้จนมุมมากขึ้น จึงเป็นการตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า มากกว่าการมองไกลไปในอนาคต ผลก็คือ ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนแค่ที่ทำงาน แต่ไม่ได้สร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ
ถึง จะเป็นคนเก่ง ดี มีความสามารถ แต่ก็พลาดได้เหมือนกัน หากตัดสินใจด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล คนเก่งมั่นใจว่า ตนเองมีดีอยู่แล้ว จึงตัดสินใจแบบ “ไปรับความท้าทายเอาดาบหน้า” แต่ จะดีกว่ามั้ย ถ้าไม่กดดันตัวเอง และเพิ่มความแยบคายในการไตร่ตรองเรื่องการเปลี่ยนงานเพิ่มมากขึ้น โดยการถามตัวเองหลายๆ ครั้งก่อนว่า ใช่ตำแหน่งงานที่ถูกต้อง ใช่ห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ ได้มองหาโอกาสของตัวเองในที่ทำงานเดิมแล้วหรือยัง มีต้นทุนการเปลี่ยนองค์กรที่คุ้มค่าหรือไม่ ความปรารถนา ค่านิยมของตนคืออะไร
สรุปก็คือ ต้องดูเขา คือ ดูทั้งองค์กรเดิมและที่ใหม่ให้ดี และดูตัวเราด้วย เปลี่ยนงานร้อยครั้ง ก็จะชนะร้อยครั้ง
ข้อมูลอ้างอิงจาก
กรุงเทพธุรกิจ