เทคนิคการหางานดีๆทำ-เมื่อต้องเข้าห้องสัมภาษณ์งาน

หลายคนกลัวเหลือเกินกับห้องสัมภาษณ์งาน บางคนถึงกับเรียกมันว่า ห้องเย็น ฟังดูน่ากลัวเกินจริงเสียนี่กระไร ไม่ต้องกลัวนะ ห้องนี้ก็เหมือนห้องอื่นๆ เมื่อคุณได้เคยเข้ามาแล้วครั้งหนึ่ง ดีกรีความตื่นเต้น ความกลัวของคุณจะลดลงไปเรื่อยๆ ตามจำนวนครั้งที่เข้า

สำหรับคนที่เพิ่งเข้าเป็นครั้งแรก เป็นธรรมดาที่คุณจะรู้สึกกลัว ตื่นเต้น ประหม่า และอีกหลายๆ อาการขึ้นอยู่กับแต่ละคน ขอเพียงอย่างเดียวให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วนึกถึงหนทางที่คุณเดินผ่านมา

คุณทำอะไรมาแล้วบ้าง ตั้งแต่การเข้ารับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับการสมัครงานจากบริษัทต่างๆ ในมหาวิทยาลัยการตระเวนหางานจากแหล่งงานต่างๆ การตั้งใจเขียนResume ให้น่าสนใจทั้งเนื้อหาและรูปแบบ การนั่งสมัครงานผ่านอินเตอร์เน็ตตอนดึกๆ โดยไม่ยอมหลับยอมนอนการค้นหาข้อมูลของบริษัทเพื่อนำมาประกอบการสัมภาษณ์ในวันนี้ เห็นมั้ย คุณทำทุกอย่างดีมาตลอด และก็ตั้งใจทำมันด้วย

เวลานี้ทุกอย่างที่คุณทำมากำลังจะสำเร็จแล้ว อีกนิดเดียวเท่านั้น เมื่อคุณตั้งใจและเตรียมพร้อมมาตลอด จะต้องกลัวอะไรล่ะ วันนี้จะผ่านไปได้ด้วยดีเชื่อฉันสิไม่ว่าคุณจะพบกับการสัมภาษณ์งานในรูปแบบไหนไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าความกลัวที่คุณสร้างขึ้นเองหรอก

คุณต้องเอาชนะและผ่านมันไปให้ได้

 

มาเริ่มที่แบบคลาสสิคที่สุดกันก่อน

หนึ่งต่อหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์หนึ่งคนและผู้เข้าสัมภาษณ์หนึ่งคน
การสัมภาษณ์แบบนี้นิยมใช้กันมากทั้งการสัมภาษณ์รอบแรกและรอบหลังๆ ความน่ากลัวไม่มากสักเท่าไหร่ คนที่ถามคุณมีแค่หนึ่งคน คุณสามารถเป็นฝ่ายควบคุมสถานการณ์ขณะสัมภาษณ์ได้เองบ้าง ด้วยการกล้าถามผู้สัมภาษณ์กลับ เพื่อให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ต้องการรู้ สามารถจับทัศนคติ ความรู้สึกของผู้สัมภาษณ์ได้ง่าย แต่ข้อเสียของแบบนี้คือ คนที่ตัดสินคุณว่าผ่านหรือไม่มีเพียงคนเดียว ซึ่งหมายถึงถ้าเขาชอบคุณก็สบายไป แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็หมดสิทธิ์ทันที เหมือนกับการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ถ้ามีกรรมการเพียงคนเดียว แล้วเขาเกิดมองไม่เห็นหมัดที่คุณต่อยเข้าปลายคางคู่ต่อสู้อย่างจัง แม้เป็นหมัดที่สวยที่สุดในชีวิต แต่คุณก็ไม่ได้รับคะแนนอยู่ดี

แบบที่สอง สองต่อหนึ่ง หรือ สามต่อหนึ่ง ผู้สัมภาษณ์สองหรือสามคนกับผู้เข้าสัมภาษณ์หนึ่งคน

แบบนี้เป็นแบบที่ใครหลายคนกลัวขึ้นสมองเอามากๆ มักใช้กับการสัมภาษณ์รอบหลังๆ แต่ก็มีหลายบริษัทที่เลือกใช้แบบนี้ในการสัมภาษณ์รอบแรก ด้วยเหตุผลที่ฉันบอกไว้คือการตัดสินคนๆ หนึ่งจากมุมมองเดียวดูจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ เพื่อป้องกันปัญหาการดูคนพลาดจากผู้สัมภาษณ์คนเดียว หลายบริษัทจึงเลือกใช้วิธีนี้ ถ้าทั้งสามคนคิดตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าคิดไม่ตรงกันสามารถมานั่งถกกันก่อนการตัดสินใจได้ ฉันจึงไม่อยากให้คุณกลัวการสัมภาษณ์แบบนี้ มันส่งผลดีกับตัวคุณมากกว่าแบบแรกเสียอีก ถ้ามั่นใจว่าคุณมีดีให้เขาเห็นก็ไม่ต้องกลัว สองในสามต้องเห็นมันบ้างล่ะ หรือถ้าเห็นพร้อมกันทั้งสามคนก็ดีไม่น้อย ถือว่าชนะแบบเอกฉันท์

แบบที่สาม สองต่อกลุ่ม หรือ สามต่อกลุ่ม ผู้สัมภาษณ์สองหรือสามคนกับผู้เข้าสัมภาษณ์เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 6-8 คน
มักใช้กับการสัมภาษณ์รอบแรกและเป็นตำแหน่งที่รับจำนวนมาก โดยเรียกผู้เข้าสัมภาษณ์มาในวันเดียวกันหลายๆ คน แล้วจัดแบ่งกลุ่มคละกัน อาจคละสถาบัน หากเป็นตำแหน่งที่ต้องการนักศึกษาจบใหม่อย่าง พนักงานธนาคารประจำสาขา

ดูเหมือนการสัมภาษณ์แบบนี้จะทำให้ผู้เข้าสัมภาษณ์อุ่นใจ มีเพื่อนร่วมชะตากรรมเยอะ แต่อย่าประมาทไป แบบนี้แหละที่คุณต้องเค้นความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดในตัวออกมา สร้างความโดดเด่นให้กับตัวเอง ต่างกับการเข้าสัมภาษณ์คนเดียว ที่คุณแค่แสดงความเป็นตัวคุณให้ผู้สัมภาษณ์เห็นเท่านั้น ไม่มีใครมาให้เปรียบเทียบ แต่แบบนี้คู่แข่งเพียบ ถ้าคุณไม่มีความสามารถอะไรโดดเด่นพอ หมดหวังแน่นอน

ส่วนใหญ่การสัมภาษณ์แบบนี้คำถามไม่ลึกมาก เช่น ให้แนะนำตัวเองให้เพื่อนร่วมกลุ่มรู้จัก บอกจุดเด่น-จุดด้อยของตัวเอง อาจมีการยกกรณีศึกษามาถามบ้างแล้วให้ตอบเป็นรายคน สิ่งที่ฉันเห็นบ่อยๆ ในการสัมภาษณ์แบบนี้คือ ความประหม่า สั่น พูดไม่ออก คงเป็นเพราะมีสายตาหลายคู่ที่จับจ้องอยู่ ไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไรกลัวว่าคำตอบของตัวเองจเข้าท่าเมื่อเทียบกับคนอื่นยิ่งพอคนก่อนหน้าตอบได้ดีมาก อาการประหม่าก็ชักรุนแรงขึ้น ไม่ต้องกลัว ลองคิดว่ากำลังพูดคุยอยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณสิ นึกถึงบรรยากาศแบบนั้นดู แล้วจะเห็นว่าคุณมีความเป็นตัวของตัวเองที่สุด อยากพูดอยากบอกอะไรก็ทำได้อย่างที่ใจคิด ในห้องสัมภาษณ์งานแบบนี้ก็ไม่ต่างกัน ทุกคนต้องมาแลกเปลี่ยนความคิดกันบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่แตกต่างกัน ไม่ต้องกังวลว่าใครจะคิดอย่างไรกับคำตอบที่ออกจากปากคุณ เพียงแค่มั่นใจว่านั่นคือคำตอบที่ได้ผ่านกระบวนการคิด เรียบเรียงในสมองของคุณมาแล้วหนึ่งรอบก็พอ อย่าปล่อยให้คำพูดที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวหลุดออกมาเด็ดขาด นอกจากจะไม่เข้าท่า ไม่รู้เรื่องแล้ว มันอาจทำให้คุณต้องเสียใจเมื่อออกมาจากห้องสัมภาษณ์ก็ได้ ที่อยากบอกอีกอย่างคือ ทุกคนเขาก็ประหม่าและกลัวเหมือนคุณนั่นแหละ ไม่มีใครดีกว่ากันหรอก มั่นใจในตัวเองให้มากๆ

ข้อพึงระวังสำหรับการสัมภาษณ์แบบนี้อยู่ที่การนั่งรวมกันในห้องก่อนที่ผู้สัมภาษณ์จะเข้าไป สถานการณ์ตอนนั้นน่าสนใจมาก เมื่อคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนต้องมาอยู่รวมกันในห้องๆ หนึ่ง ใครเป็นคนเริ่มพูดกับคนอื่นก่อน ใครนั่งเฉยๆ ไม่ยอมพูดจา ใครมีบุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น ใครมีความเป็นผู้นำ ใครไม่ชอบทำงานเป็นทีม และอะไรอีกหลายๆ อย่าง สามารถเห็นได้จากภาพในกล้องวงจรปิด

ฉันไม่ขอการันตีว่ามีกล้องติดไว้ทุกบริษัท แต่ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น เหตุผลหลักข้อหนึ่งสำหรับการสัมภาษณ์แบบนี้คือ ต้องการรู้พฤติกรรมในการอยู่รวมกลุ่มของผู้เข้าสัมภาษณ์ ซึ่งสามารถสะท้อนรูปแบบการทำงานของแต่ละคนออกมาให้เห็นได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ภาพที่เห็นนั้นมักไม่ค่อยผิดจากความจริงสักเท่าไหร่ นำมาอ้างอิงได้สูงถึง 90 %เชียว

รู้อย่างนี้แล้ว คุณคงรู้ว่าต้องทำอย่างไรในขณะนั้น ขอให้ทุกอย่างที่แสดงออกมาเป็นตัวคุณมากที่สุด อย่าแสแสร้งแกล้งทำให้เกินจริง มันดูกันออก สำหรับใครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่ชอบพูด ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าให้ถึงขนาดนั่งเฉยๆ ไม่สนใจใครก็แล้วกัน เพราะคนลักษณะแบบนี้ไม่ว่างานตำแหน่งอะไร ที่ไหน ไม่มีใครอยากได้ไปร่วมงานหรอก สู้อยู่บ้านเฉยๆ ยังดีเสียกว่า

การสัมภาษณ์ทั้งสามแบบที่ยกมาให้เห็นเป็นแบบที่บริษัทส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ถ้าวันหนึ่งคุณไปเจอที่ไม่ใช่สามแบบนี้ ไม่ต้องตกใจ บางบริษัทอาจคิดรูปแบบการสัมภาษณ์ของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการคัดคนในตำแหน่งพิเศษๆ อย่าง การสร้างสถานการณ์จำลองให้คุณรับโทรศัพท์ร้องเรียนจากลูกค้าสำหรับตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า การจำลองสถานการณ์ว่าคุณกำลังว่าความอยู่ในศาลสำหรับตำแหน่งทนายความ ไม่ว่าคุณเจอการสัมภาษณ์รูปแบบไหน ธรรมดาหรือพิสดาร สิ่งที่คุณต้องจำไว้ คือ เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด อย่าพยายามเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ พฤติกรรมเดิมของคุณ แค่ให้ไปกันได้กับงานที่กำลังสัมภาษณ์อยู่ คุณเปลี่ยนมันไม่ได้ตลอดไปหรอก บางคนเปลี่ยนได้แค่ในห้องสัมภาษณ์ขณะนั้น พอออกมาต้องกลับมาเป็นคนเดิม ไม่คุ้มหรอกถ้าคุณได้งานนั้นมาด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเอง คุณฝืนมันไปได้สักแค่ไหน หนึ่งวัน สองวัน หรือหนึ่งสัปดาห์

ไม่มีประโยชน์อะไรที่คุณได้งานๆ หนึ่งมา แล้วกลับพบว่ามันไม่ใช่งานที่คุณชอบ ที่คุณอยากทำในตอนหลัง ในเมื่อรู้ว่าคำตอบของคุณในห้องสัมภาษณ์มันฝืนความเป็นตัวคุณมาก อย่าพยามเลย คุณไม่เหมาะกับงานนั้นด้วยประการทั้งปวงตั้งแต่ยกแรกแล้ว ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณมีความเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดในขณะสัมภาษณ์ฉันรับรองได้ ผู้ที่สัมภาษณ์คุณอยู่ เขาก็รู้เช่นกันว่าคุณเหมาะกับงานนั้นหรือเปล่า ปล่อยให้เขาเป็นคนตัดสินแต่ถ้าสิ่งที่คุณแสดงออกมา มันไม่เหมาะกับงาน แต่เขายังยืนยันรับคุณเข้าทำงานอยู่ นั่นอาจเป็นเพราะมีอะไรบางอย่างในตัวคุณที่แสดงให้เขาเห็นว่าคุณสามารถทำงานนั้นได้ ถึงตอนนั้นคุณจะลองรับปากร่วมงาน ก็ไม่เสียหายอะไร

ไม่ว่าความกลัว ความประหม่า อาการสั่น ไม่มั่นใจ ไม่มีทางเกิดขึ้นกับคุณได้ หากคุณมีความเป็นตัวของตัวเอง จะกลัวอะไร ในเมื่อทุกอย่างที่แสดงออกมา มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ผ่านการประดิดประดอย แสแสร้งแกล้งทำแต่อย่างใด การสัมภาษณ์งานก็ไม่ต่างกับการที่คุณเข้าไปคุยกับญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนคนหนึ่งหรอกนะ

จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว