เทคนิคการหางานดีๆทำ-เกรดเฉลี่ย กิจกรรมระหว่างเรียน และการวางแผนจะเรียนต่อ สำคัญไหม?

เกรดเฉลี่ย และกิจกรรมระหว่างเรียนสำคัญด้วยหรือ…..?

ฉันคิดว่าหลายคนคงมีคำถามนี้อยู่ในใจ อาจติดค้างมานาน แต่ไม่รู้ถามใครดี แล้วจะได้คำตอบที่ถูกต้องหรือเปล่า ก็ไม่รู้ ฉันเองก็เหมือนกัน ตอนยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย คำถามนี้ป้วนเปี้ยนวนเวียนในหัวหลายต่อหลายรอบ เรียนไปถามตัวเองไปมันจำเป็นสักแค่ไหนกันเชียว เรียนให้จบตามเวลาที่เขากำหนดไว้ ก็จะตายอยู่แล้ว จะมาเอาอะไรกับเกรดที่สวยหรู กิจกรรมที่โก้เก๋อีก ไม่เข้าใจเลยจริงๆ แถมยังไม่สามารถหันหน้าไปถามใครได้อีก ก็ไม่มีใครรู้นี่

เห็นรุ่นพี่หลายคนเกรดร่อแร่ เฉียดฉิว ได้งานดีๆ ตั้งเยอะ บางคนตั้งใจเรียนขนาดพลาดเกียรตินิยมเหรียญทองเส้นยาแดงผ่าแปด ฉันก็ยังเห็นเดินแตะฝุ่นอยู่เลย ไหนจะกิจกรรมอีก แค่เรียนอย่างเดียวก็ไม่รู้ว่าจะรอดหรือเปล่า พ่วงท้ายกิจกรรมยาวเป็นหางว่าว ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตงานนี้ นักกิจกรรมตัวยงหลายคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีงานโน้นงานนี้สารพัด ก็เกิดอาการหวงแหนมหาวิทยาลัยเอามากๆ เลยขออยู่ต่ออีกปีสองปีกันเป็นแถว นอกจากไม่มีคำตอบให้กับคำถามที่ค้างคาใจแล้ว สิ่งที่ได้เห็นกับตายังทำให้สับสนมากขึ้นไปอีก จะเอาไงดีกับชีวิตฉันเนี่ย

สำหรับใครที่ตอนนี้คิดแบบนี้ อย่าเพิ่งสับสนกับชีวิตนะ ใจเย็นๆ ฉันมีคำตอบมาให้แล้ว ที่ถามว่าเกรดเฉลี่ยและกิจกรรมสำคัญด้วยหรือ? ขอบอกตรงนี้เลยว่า สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีปัจจัยอื่นอีกเยอะที่ทำให้คุณได้หรือไม่ได้งาน อย่างที่บอกกันมาตลอด ไม่อยากให้คุณพลาดหรือมองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ ถ้ามันไม่เหลือบ่ากว่าแรงมากเกินไป คุณก็ควรใส่ใจมันบ้างพอเป็นพิธี

มาเริ่มที่เกรดเฉลี่ย หรือที่เรียกกันเล่นๆ ว่า GPA สำหรับสาขาสังคมศาสตร์ควรอยู่ในระดับ 2.8 ขึ้นไป ส่วนสาขาวิทยาศาสตร์ขอแค่ 2.5 ขึ้นไปก็ปลอดภัยแล้วล่ะ ที่บอกว่าปลอดภัยนี่หมายถึง โอกาสผ่านการพิจารณาเกรดสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ของคุณจะมีสูงนั่นเอง อย่างน้อยเขาก็ไม่สะดุดตา เอะใจ กับเกรดอันน้อยนิดของคุณ จนทำให้ต้องมานั่งตัดสินใจเลือกอีกครั้ง แทนที่จะผ่านไปดูคุณสมบัติอื่นๆต่อถ้าคุณรักษาระดับความปลอดภัยของเกรดเฉลี่ยไว้ได้ รับรองโอกาสผ่านฉลุยในรอบแรกมีสูงกว่า 95%

ทำไมต้องเอาเกรดเฉลี่ยมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาใบสมัครงานด้วย?

เมื่อก่อนฉันก็ไม่เข้าใจ มันวัดความสามารถการทำงานในอนาคตของเราได้เหรอ ไม่เห็นเกี่ยวกันสักหน่อย เรียนแค่ผ่านก็น่าจะพอ

เกรดเฉลี่ยวัดความสามารถในการทำงานไม่ได้หรอก แต่มันวัดความรับผิดชอบในหน้าที่ของคุณได้ อย่างน้อยการที่คุณสามารถเรียนได้เกรดในระดับปลอดภัย แสดงให้เห็นว่าคุณมีความรับผิดชอบในการเรียน ในสิ่งที่อาจารย์ได้มอบหมายให้ทำ ในการบริหารจัดสรรเวลาได้อย่างดี นอกจากเรียนจบเหมือนคนอื่นๆ แล้ว คุณยังมีความสามารถอีกตั้งสามอย่างข้างต้นเป็นของแถมพ่วงท้ายมาด้วย นายจ้างที่ไหนล่ะไม่อยากเลือกคนเก่งมีความสามารถอย่างคุณมาร่วมงาน ดีกว่าไปคว้าใบสมัครของใครที่ไม่มีของแถมตั้งเยอะ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น คุณลองนึกถึงยาสีฟันในซุปเปอร์มาร์เกตดูสิ ขนาดและยี่ห้อเหมือนกัน กล่องหนึ่งไม่มีของแถม อีกกล่องแถมแปรงสีฟันหนึ่งอัน แต่ขายในราคาเท่ากัน คุณคงไม่เลือกอันแรกแน่ใช่ไหม?

ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของชีวิตการทำงาน ช่องต่างๆ ที่มีให้กรอกในใบสมัครงานของทุกบริษัท ไม่มีช่องไหนบอกได้ว่าคุณมีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน ช่องเกรดเฉลี่ยจึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการวัด แม้ไม่สามารถวัดได้ถูกต้อง 100% แต่ถือว่าวัดได้ใกล้เคียงกว่าช่องอื่นๆ โดยเฉพาะช่องที่เว้นไว้ให้คุณเขียนเกี่ยวกับตัวเอง ในช่องนั้นคุณเขียนอย่างไรก็ได้ ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานมาวัดว่าจริงหรือไม่จริง ดังนั้น จงระมัดระวังและใส่ใจเกรดเฉลี่ยของคุณบ้างนะ

ส่วนกิจกรรมระหว่างเรียนที่หลายคนสงสัยว่าสำคัญด้วยหรือเช่นเดียวกัน คือ สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การทำกิจกรรมสามารถบอกได้ว่าคุณเคยทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างเป็นระบบมาก่อน มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการแบ่งงานกันทำ การทำงานเป็นทีม การมุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ซึ่งนั่นคือปัจจัยหลักของทำงานในองค์กรทั่วๆ ไป

ถ้าคุณผ่านกิจกรรมเหล่านี้มาบ้าง มันจะการันตีว่าคุณได้เรียนรู้ระบบการทำงานที่ถูกต้องมาแล้ว สามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน อย่างน้อยกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา คงพอทำให้คุณเห็นปัญหาของการทำงานร่วมกับคนมากๆ วิธีการหลีกเลี่ยงและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน

ส่วนใหญ่คำถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรมระหว่างเรียน ผู้สัมภาษณ์มักให้คุณเล่ารายละเอียดของกิจกรรมที่คุณคิดว่าทำแล้วประสบความสำเร็จที่สุดให้ฟัง โดยพยายามถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานนั้นสำเร็จ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาของคุณ ซึ่งถ้าไม่ได้ลงมือทำเองจริงๆ คุณจะไม่สามารถอธิบายรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจนอย่าลืมเตรียมข้อมูลส่วนนี้ไปด้วยนะ คุณได้ใช้มันแน่นอน

คราวนี้รู้แล้วใช่ไหม?สองสิ่งที่หลายคนเคยสงสัยมีความสำคัญอย่างไรกับการสมัครงาน ฉันไม่ปฏิเสธว่าคนเรียนไม่ดีได้งานดีก็เยอะ คนไม่ทำกิจกรรมอะไรเลยได้งานเร็วกว่าคนที่ทำเป็นบ้าเป็นหลังก็แยะ แต่คนที่ เยอะ แยะ นี้ เขาต้องมีคุณสมบัางอย่างในใบสมัครที่โดดเด่น เข้าตา จนทำให้บริษัทยอมทิ้ง 2 สิ่งนี้ไปได้

ถ้ามั่นใจว่าคุณมีคุณสมบัติที่น่าสนใจเหมือนกัน ฉันก็ไม่ว่าอะไร หากคุณไม่ใส่ใจกับเกรดเฉลี่ยและกิจกรรมระหว่างเรียน แต่ถ้ามองเท่าไหร่แล้วไม่เจอเลยสักข้อ ขอเถอะนะใส่ใจกับมันสักหน่อยก็ยังดี

คุณวางแผนจะเรียนต่อปริญญาโทหรือเปล่า?

เหมือนเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่รู้ไหม ฉันต้องตอบคำถามนี้ให้กับบรรดาลูกค้าที่มาขอคำปรึกษาบ่อยที่สุดคำถามหนึ่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าคำถามนี้เริ่มฮิตใช้กันตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนฉันหางานไม่ค่อยได้เจอบ่อยนัก อาจเพราะปัจจุบันการเรียนจบแค่ปริญญาตรีไม่เพียงพอแล้วก็ได้ บัณฑิตแทบเหยียบเท้ากันตายในตลาดงาน สู้กัดฟันเรียนต่ออีกนิดเป็นมหาบัณฑิต คงพอแข่งขันกับคนอื่นได้มากขึ้น และฉันคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้แค่มหาบัณฑิตก็คงไม่พอ

หลายมหาวิทยาลัยแข่งกันเปิดหลักสูตรปริญญาโทมากมาย จนทุกวันนี้เดินชนกันไปชนกันมาในมหาวิทยาลัยวันละหลายรอบอยู่เหมือนกัน สงสัยต่อไปต้องเปลี่ยนคำถามเป็น คุณวางแผนจะเรียนต่อปริญญาเอกหรือเปล่า? ก็ได้ ใครจะไปรู้

ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามนี้เพื่อจะได้ทราบว่าคุณวางแผนเกี่ยวกับการเรียนต่อในอนาคตหรือไม่บางตำแหน่งจำเป็นต้องให้เวลากับงานมากเป็นพิเศษ การที่คุณต้องใช้เวลางานไปเรียนบ้างเป็นบางคราวจึงมีผลกระทบกับงานอย่างแน่นอน หรือบางตำแหน่งต้องการความรู้ความสามารถในระดับปริญญาโทมาสนับสนุนให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต การที่คุณวางแผนเรียนต่อนับเป็นเรื่องดีของบริษัท ไม่ต้องหาคนใหม่มาแทนคุณ เพราะเวลานี้คุณสมบัติของคุณเข้าตาบริษัทแล้ว

หลายคนกลัวคำถามนี้ ด้วยคิดว่าบริษัทไม่มีนโยบายสนับสนุนการเรียนต่อของพนักงาน กลัวจะไม่ได้งานถ้าตอบไปว่ามีแผนเรียนต่อ ฉันขอให้คุณตอบตามความจริงดีกว่า ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อย่างน้อยก็มีการซักถามเรื่องนี้กันก่อนในห้องสัมภาษณ์ คุณจะได้ทราบว่าจริงๆ แล้วบริษัทมีนโยบายให้พนักงานเรียนต่อหรือไม่ ถ้ามี ขอบเขตอยู่ตรงไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง คุณจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจต่อไป

ถ้าคุณกำลังจะเรียนต่อ หรือกำลังเรียนอยู่ ขอให้แจ้งผู้สัมภาษณ์ก่อน ถ้าบริษัทไม่มีนโยบายให้เรียนต่อ คุณก็ทำงานนั้นไม่ได้ เว้นเสียแต่คุณสมบัติอันโดดเด่นคับแก้วของคุณจะทำให้บริษัทยอมเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้คุณมาร่วมงานด้วย กรณีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เห็นไม่บ่อยนัก

บริษัทส่วนใหญ่มักสนับสนุนการเรียนต่อของพนักงาน แต่มีข้อแม้ต่างกันอยู่ว่า คุณต้องใช้เวลางานไปเรียนหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ถ้าเวลาเรียนไม่คาบเกี่ยวกับเวลางาน มักไม่มีปัญหา แต่ถ้าต้องใช้เวลางานไปเรียนด้วย อันนี้ต้องมาตกลงกันเป็นรายๆ ไปว่าจะหาทางออกกันอย่างไร เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ถ้าหาทางออกไม่ได้ ไม่ต้องเสียดายที่ไม่ได้งานนี้ อาจมีบริษัทอื่นกำลังรอสนับสนุนให้คุณได้เรียนควบคู่ไปกับการทำงานอยู่ข้างหน้าก็ได้

ถ้าคุณยังไม่มีแผนสำหรับการเรียนต่อ หรือมีแล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ฉันขอให้คุณตอบกลับไปว่า ดิฉันมีแผนจะเรียนต่อ แต่ยังไม่ทราบว่าด้านไหน ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรอย่างชัดเจน ขอทำงานหาประสบการณ์ก่อน แล้วค่อยตัดสินใจอีกที

คำตอบนี้เป็นกลางที่สุดสำหรับคนที่ยังไม่มีแผน หรือมีแผนแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นเวลา มันทำให้คุณดูเป็นคนรักความก้าวหน้า มีการวางแผนชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่เลื่อนลอยไร้จุดหมาย และยังเป็นคนใช้ชีวิตอย่างรอบคอบอีกด้วย ไม่ผลีผลามเรียนตามกระแส ขอเรียนตามความชอบและสามารถนำมาใช้งานได้ในอนาคต เอาเป็นว่าคำตอบนี้ช่วยชีวิตคุณได้มากๆ แน่นอนในห้องสัมภาษณ์งาน อย่าลืมจำไปใช้นะ ไม่อย่างนั้นคุณอาจถูกมองว่าเป็นคนไร้อนาคตไปเลยก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่าฉันไม่ยอมบอกวิธีเอาตัวรอด

เกณฑ์การพิจารณาที่น่าสนใจในการสัมภาษณ์งาน

นอกจากคำแนะนำทั้งหมดที่บอกไปแล้ว ฉันยังมีเกณฑ์ในการพิจารณาผู้เข้าสัมภาษณ์งานของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งมาฝากกันอีกด้วย เขาจะแบ่งการพิจารณาออกเป็นสองส่วน ดังนี้

สิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้

– สุขภาพสมบูรณ์
– มีผลการเรียนดี
– มีไหวพริบในการตอบคำถาม
– แสดงออกอย่างมีสัมมาคารวะ
– มีความสามารถในการสื่อความ
– บุคลิกภาพ การแสดงออก แต่งกายดี
– แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล
– ควบคุมอารมณ์ได้ดี

สิ่งที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้

– การปรับตัวเข้ากับสังคม สภาพแวดล้อม
– มองโลกในแง่ดี
– ความซื่อสัตย์สุจริต กตัญญู
– กระตือรือร้นในการเรียนรู้งาน
– ความคล่องตัวในการทำงาน
– หนักเอาเบาสู้ เท้าติดดิน

เมื่ออ่านจบตรงนี้แล้ว คุณคงพอเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่ฉันได้บอกมาทั้งหมดมากขึ้น เกณฑ์ที่ยกมาให้เห็นเป็นเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปที่บริษัทส่วนใหญ่ใช้ในการประเมินผู้เข้าสัมภาษณ์งาน อาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับลักษณะงานและวัฒนธรรมขององค์กร อย่างเช่น ความกตัญญูและสัมมาคารวะจะมีความสำคัญในองค์กรไทยมากกว่าองค์กรข้ามชาติ

ลองอ่านช้าๆ ทีละข้อ แล้วมองกลับมาที่ตัวเอง คุณมีครบทุกข้อแล้วหรือไม่ ถ้ามีครบ ฉันมองไม่เห็นภาพการว่างงานของคุณเลย แต่ถ้าไม่ครบ ลองดูสิ ยังขาดข้อไหนอีกบ้าง รีบเติมให้ครบก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ หรือถ้าไม่ทันจะเติมให้มั่นใจอีกครั้งในห้องสัมภาษณ์ก็ได้ โดยเฉพาะ สิ่งที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบคำถามและการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ใหภาษณ์ได้รับรู้ว่าคุณมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ มันคือความสามารถส่วนตัวของคุณแล้วล่ะ แต่ถ้าได้ทำการบ้านมาก่อนบ้าง รับรองว่าคุณเป็นคนที่เขาเลือกแน่นอน

จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว