เทคนิคการหางานดีๆทำ-ควรเรียกเงินเดือนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม?

คำถามนี้ คงเป็นที่คาใจของหลายคน โดยเฉพาะบัณฑิตใหม่ๆ เมื่อคุณยังไม่เคยทำงานมาก่อน ไม่แปลกหรอกที่คุณไม่รู้เกี่ยวกับตัวเลขพวกนี้ แต่บางคนคงพอรู้มาบ้างจากรุ่นพี่ ญาติ เพื่อน หรือบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาแนะนำในมหาวิทยาลัย

ฉันเชื่อ การที่คุณตัดสินใจสมัครงานสักงานหนึ่ง คุณน่าจะมีประมาณการตัวเลขนี้ไว้ในใจแล้วเพราะในสายวิชาชีพที่คุณจบมา มักมีการพูดถึงตัวเลขเหล่านี้อยู่เสมอเช่น รุ่นพี่คนนี้จบสังคมสงเคราะห์ ไปทำงานเลขานุการกรรมการผู้จัดการ บริษัทเอบีได้เงินเดือน 10,000.-บาทหรือรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง จบหนังสือพิมพ์ ไปทำงานนักข่าวสายการเมืองกับหนังสือพิมพ์กขได้เงินเดือน 15,000.-บาทเป็นต้น

ข้อมูลพวกนี้พอทำให้คุณมองเห็นภาพของอัตราค่าจ้างในตลาดแรงงานได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยเป็นกรอบให้คุณได้รู้และพอประมาณการตัวเลขที่คุณควรจะได้รับ ถ้าคุณได้ทำงานในตำแหน่งนั้น ขอบอกตรงนี้ว่า เป็นแค่ประมาณการที่ใกล้เคียงความเป็นจริงเท่านั้น เพราะมันมีโอกาสดิ้นได้……

อาการ ดิ้นได้ นี้ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ ความต้องการของตลาด สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในขณะนั้นความสามารถอันมากมายที่อาจจะทำให้บริษัทต้องยอมทุ่มเงินซื้อเพื่อแย่งคุณมาจากบริษัทอื่นที่หมายตาคุณไว้เช่นกัน และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย

บางคนนั้นจบมาจากคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกัน เกรดเฉลี่ยก็ไม่ห่างกันเยอะ ได้งานเลขาผู้บริหารเหมือนกันเพียงแต่คนละบริษัท คนหนึ่งได้รับเงินเดือน 8,000.- บาท แต่อีกคนกลับได้สูงถึง 15,000.-บาท ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้า 2 บริษัทที่ว่าหมายถึงบริษัทของคนไทยกับบริษัทข้ามชาติ หรือบริษัทใหญ่ที่มีพนักงานเป็นพันคน กับบริษัทเล็กๆ ที่มีคนงานไม่กี่สิบ

บริษัทใหญ่ๆ มักมีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน หากมีการปรับฐานเงินเดือน จะส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวนมาก จึงทำให้เงินเดือนอยู่ในระดับเกณฑ์มาตรฐานของตลาดแรงงาน หรือถ้าจะต่างกันก็ไม่มากนัก

แต่หากเป็นบริษัทเล็กๆ โครงสร้างเงินเดือนอาจจะยังไม่มีกำหนดไว้แน่นอน ดังนั้นตัวเลขนี้จึง ดิ้นได้ ตามความพอใจของเจ้าของบริษัท การตั้งใจให้เงินเดือนคนใดมากหรือน้อยมักจะไม่มีผลกระทบต่อฐานเงินเดือนของพนักงานเก่ามากนัก หรือบางครั้งอาจจะไม่กระทบเลยก็ได้ ถ้าตำแหน่งนี้มีอยู่เพียงคนเดียว

ไม่ต้องตกใจ ถ้าวันหนึ่ง เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันบอกกับคุณว่า เขาได้เงินเดือนสูงถึง 20,000.- บาท ทั้งที่ทำงานในตำแหน่งเดียวกับคุณอยู่ตอนนี้ แต่คุณรับแค่ 12,000.- ลองถามเขาต่อไปอีกสักนิดว่า เขาทำอยู่บริษัทอะไร คุณจะพบคำตอบที่คุณเข้าใจมากขึ้น

บางครั้งคนเราก็เลือกความมั่นคงมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ และบางครั้งอีกเช่นกันที่เรามักจะเห็นความสำคัญของเงินที่ได้รับ มากกว่าความมั่นคงและชื่อเสียงของบริษัท

ฉันไม่ขอตัดสินว่าอะไรดีกว่า แต่อยากให้คุณเลือกในสิ่งที่คุณพอใจมากกว่าเท่านั้นเอง และฉันเชื่อว่าแต่ละคนต่างก็มีความต้องการในชีวิตแตกต่างกัน

การเรียกเงินเดือนส่วนใหญ่มี 2 แบบคือ กำหนดตัวเลขที่ต้องการ อาจจะเป็นตัวเลขเดียว เช่น 10,000.- บาท1ได้ เช่น 8,000.- ถึง 12,000.-บาท 12,000.- ถึง15,000.-บาทก็ได้ อย่างที่บอก ตัวเลขที่คุณเรียกไปนั้นต้องอิงกับฐานข้อมูลที่คุณขอไม่ต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานในตลาดแรงงานมากนัก

แบบที่ 2 คือระบุว่า ตามโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทแบบนี้ นับเป็นการให้โอกาสทั้งตัวเองและบริษัท ถ้าบริษัทมีผู้สมัครให้เลือก 2 คน คุณสมบัติโดยรวมไม่แตกต่างกัน คนหนึ่งขอเงินเดือนสูงกว่าเกณฑ์ที่บริษัทสามารถกำหนดให้ได้มาก กับอีกคนหนึ่งขอตามโครงสร้างของบริษัท คุณคิดว่า เขาน่าจะเลือกเรียกคนไหนมาสัมภาษณ์ก่อน?

แต่สำหรับคนที่ไม่กังวลว่าจะได้งานหรือไม่ แต่ให้ความสำคัญกับค่าตอบแทนมากกว่า ซึ่งไม่ผิดอะไรที่คิดแบบนั้น ฉันขอแนะนำให้คุณกำหนดเงินเดือนลงไปเลย อย่างน้อยเป็นการสกรีนเบื้องต้นว่า คุณยินดีไปสัมภาษณ์งานในกรณีที่บริษัทให้เงินเดือนขั้นต่ำตามที่คุณขอไว้นั้น ไม่เสียเวลาทั้งตัวคุณและบริษัท

หลายครั้ง ฉันเห็นผู้มาสัมภาษณ์งานที่ระบุของเงินเดือนตามโครงสร้างของบริษัท กลับปฏิเสธงานทันทีเมื่อรู้ว่าตัวเลขที่บริษัทให้ได้ ไม่สูงเท่ากับที่เขาต้องการ ถ้าตัวเลขนั้นต่างกันไม่มากนัก ก็อาจต่อรองกันได้ แต่ถ้าช่องว่างห่างกันเยอะเกินไป ก็ยากที่จะตกลงกันได้ อย่างนี้ถือเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ทั้งตัวคุณเองและบริษัท ทางที่ดี คุณควรกำหนดตัวเลขที่ต้องการดีกว่าถ้ารู้ว่าตัวเลขตัวไหนที่จะสนองกับการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนของคุณได้

การเรียกเงินเดือนจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ คุณพอใจที่ตัวเลข หรือพอใจแค่ได้งานเท่านั้น ตอบตัวเองให้ได้ก่อนที่จะเขียนมันลงไปในใบสมัคร……

จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว