เทคนิคการหางานดีๆทำ-การสมัครงานทางอินเตอร์เน็ต

นับเป็นอีกช่องทางในการสมัครงานน้องใหม่ไฟแรงสูงและดูท่าว่าจะไม่มีทางมอดลงง่ายๆ ซะด้วย ทั้งลูกจ้างและผู้สมัครงานต่างให้การตอนรับอย่างท่วมท้น ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายต่อหลายคน แต่นั่นแหละ เมื่อสามารถอำนวยความสะดวกอย่างมากแล้ว ปัญหาปลีกย่อยๆ จึงมากมายเป็นเงาตามตัว….แต่คุณจะไม่ พลาด แน่ หากยังตั้งใจอ่านต่อไปนะ

การสมัครงานทางอินเตอร์เน็ตมี 3 แบบ

1. สมัครผ่านเว็บไซต์จัดหางาน

ปัจจุบันนี้มีบริการนี้เพิ่มขึ้นมากมาย เช่น
www.jobdb.com,www.jobthai.com, www.nationejobs.com, www.jobtopgun.com

ซึ่งส่วนใหญ่ไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้สมัครทั้งสิ้น แต่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากนายจ้าง ในกรณีสมัครเป็นสมาชิกเพื่อใช้สิทธิ์เข้าไปค้นใบสมัครตำแหน่งที่ต้องการในฐานข้อมูลของเว็บไซต์

คุณสามารถเข้าไปลงทะเบียนสมัครเป็นสมาชิกประเภทJob Seeker หรือEmployee ของเว็บไซต์ได้ โดยจะได้รับ User Name พร้อม Password เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบได้ทันที หลังจากนั้นก็เริ่มสร้าง Resume ส่วนตัว ไม่ยุ่งยากเลย เพียงแต่คีย์ข้อมูลส่วนตัวลงไปในช่องต่างๆ จนครบเท่านั้น Resume ส่วนตัวของคุณก็จะถูกเก็บไว้เป็นหลักฐานข้อมูลเพื่อให้นายจ้างเข้ามาค้นหาดูได้ และคุณยังสามารถค้นหาตำแหน่งงานที่ต้องการสมัครได้อีกด้วยเมื่อค้นเจอและต้องการสมัคร แค่คลิกส่งตามขั้นตอนของแต่ละเว็บไซต์ Resume ของคุณก็จะถูกส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของบริษัทนั้นๆ เพื่อให้บริษัทเข้ามาเปิดดูและนำไปพิจารณา

เพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองมากที่สุด คุณควรเข้าไปลงทะเบียนและสร้าง Resume เก็บไว้หลายเว็บไซต์ เพราะแต่ละเว็บไซต์ จะมีบริษัทที่ใช้บริการลงประกาศรับสมัครงานแตกต่างกัน คุณจึงไม่ควรทิ้งโอกาสดีๆ เหล่านี้

เหมือนกับการขายของนั่นแหละ โฆษณาเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากเท่าไหร่ ยอดขายก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

มีบางคนบ่นเข้าหูมาว่า ลงทะเบียนไว้หลายเว็บ แต่พอจะเข้าระบบมีปัญญาทุกครั้ง เพราะคีย์ Password ผิด การป้องกันปัญหานี้ง่ายมาก ด้วยการใช้ User Name และPassword เดียวกันทุกเว็บกันดีกว่าไหม ง่ายดี ไม่สับสน หรือถ้าอยากใช้หลายๆ ชื่อ คงต้องจดใส่สมุดบันทึกกันลืมกันแล้วละ

เมื่อคุณเข้าไปสร้าง Resume เก็บไว้แล้ว อย่าลืมแวะเวียนเข้าไปเช็คบ้าง บางบริษัทอาจจะนัดสัมภาษณ์คุณด้วยการส่งจดหมายกลับมายังเว็บนั้น ที่สำคัญ หากคุณมีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เช่น หมายเลขโทรศัพท์หรือที่อยู่ ต้องรีบเข้าไปแก้ไขทันที เพื่อให้ Resume ของคุณสมบูรณ์ เป็นปัจจุบันมากที่สุด จะได้ไม่พลาดการติดต่อ…

ข้อดีของการสมัครงานทางอินเตอร์เน็ตคือ สะดวกและรวดเร็ว นายจ้างเองก็สะดวกในการพิจารณาใบสมัครทุกใบที่มีรูปแบบเหมือนกัน ง่ายต่อการเปรียบเทียบคุณสมบัติต่างๆ ของผู้สมัครแต่ละตำแหน่ง ผู้สมัครเองก็สะดวก แค่เข้าไปสร้าง Resume เก็บไว้ครั้งเดียวก็สามารถส่งไปสมัครงานได้หลายบริษัท

2. สมัครงานด้วยการส่งอีเมล์ถึงบริษัทโดยตรง

ช่องทางนี้ ใช้สำหรับผู้ไม่ต้องการหรือขี้เกียจนั่งคีย์ข้อมูลลงในฐานข้อมูลของเว็บไซต์หางาน แต่ต้องการส่งจดหมายและ Resume ที่ทำขึ้นเองไปยังบริษัทโดยตรงสามารถทำได้ค่ะ ด้วยการค้นหาตำแหน่งงานที่สนใจในเว็บไซต์หางานทั่วไป คลิกเข้าไปดูรายละเอียดตำแหน่งงานบริษัท จด E-mail Address ไว้เพื่อส่งใบสมัครไปยังบริษัท หรือคุณอาจเจอตำแหน่งที่น่าสนใจในหนังสือหางานต่างๆ ก็สามารถจด E-mail Address แล้วใช้ส่งวิธีนี้ได้เหมือนกัน

การสมัครงานวิธีนี้ ทำให้นายจ้างรู้จักคุณได้มากกว่าวิธีแรก เพราะสามารถแนบไฟล์ (Attach File) เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความต้องการของคุณ เมื่อมีข้อดีอย่างนี้ ข้อควรระวังต่างๆ ก็มีมากเช่นกันอย่างแรก ชื่ออีเมล์ที่ส่ง (Subject) ควรตั้งเป็นชื่อ

ตำแหน่งที่ต้องการสมัคร เช่น สมัครงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หรือ Apply for Public Relation Position เป็นต้น เพราะใบสมัครที่เข้าไปยังบริษัทในแต่ละวัน การันตีได้เลยว่า ไม่ใช่มีของคุณคนเดียว และไม่ใช่แค่ตำแหน่งเดียวด้วย บางบริษัท 1 วันมาเป็นร้อยเป็นพันฉบับ

คุณจะไม่พลาดตั้งแต่แรก ถ้าตั้งชื่ออีเมล์เป็นชื่อตำแหน่งจะป้องกันการตกหล่นสูญหายจากระบบ ในกรณีที่บริษัทคัดแยกใบสมัครลงโฟลเดอร์ (Folder) จะด้วยระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบคนพิวเตอร์ก็อีเมล์ก็ตามแต่ ส่วนใหญ่การแยกหมวดหมู่ใบสมัครมักอ้างอิงตามชื่อตำแหน่ง

เป็นหลักในการจัดเก็บ ถ้าส่งไปโดยไม่ตั้งชื่ออีเมล์เป็นชื่อตำแหน่ง เจ้าหน้าที่จะต้องเสียเวลาคลิกเข้าไปดูใบสมัครของคุณก่อน ถึงจะรู้ว่าสมัครตำแหน่งอะไร ถ้าเขาขยันคลิกก็นับเป็นผลบุญที่คุณเพียรทำไว้แต่ชาติปางก่อน แต่ถ้าเกิดขี้เกียจคลิกเมาส์ซ้าย แล้วพาลคลิกเมาส์ขวา กดDelete ส่งใบสมัครของคุณลง Recycle Bin นี่สิ น่าเศร้า หมดสภาพตั้งแต่ยังไม่ออกสตาร์ท….น่าเสียดายจริงๆ

สำหรับไฟล์ที่แนบ (Attach File) เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาไปกับเมล์ ควรมีแค่ 1 หรือ 2 ไฟล์ (ถ้าเป็นไปได้) นั่นคือจดหมายนำและ Resume แค่นี้นับว่าเพียงพอแล้วละในการพิจารณาเบื้องต้น ไม่ยุ่งยากในการคลิกดู บางคนแนบมา 4 5 ไฟล์ กว่าจะดูเอกสารประกอบครบเสียเวลาไปหลายนาที (ไม่รู้คุ้มหรือเปล่า ถ้าคุณสมบัติไม่ได้เรื่องอีกต่างหาก) แถมบางคนขยันแนบเอกสารที่ไม่จำเป็นในการพิจารณาเบื้องต้นไปอีกเพียบเช่น แสกนบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบผ่านงาน ใบรับรองยกเว้นการเกณฑ์ทหาร และที่เด็ดที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาคือ ใบสูติบัตรหรือใบแจ้งเกิดนั่นเอง เอาเข้าไปนั่น เปิดเข้าไปเห็นแล้วงงไม่หาย จะส่งมาทำไม?บอกอีกกี่ครั้ง นี่แค่พิจารณาเบื้องต้น ถ้าผ่านเรียกสัมภาษณ์เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละที่คุณสามารถนำเอกสารประกอบมาได้ตามใจต้องการ ไม่มีใครว่าอะไรแน่นอน

อุปสรรคของการส่งไฟล์ประกอบที่เป็นรูปภาพคือเสียเวลาในการโหลด บางคนแสกนภาพมาด้วยพิกเซลที่สูงเกินพิกัด คุณที่อ่านถึงตรงนี้อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจ ในเมื่อรู้ว่าเป็นไฟล์อะไร แล้วเปิดเข้าไปดูทำไม? ทำไมนะหรือมันไม่มีชื่อไฟล์นะซิ บางไฟล์ใช้ชื่อ 001,____? เป็นต้น จนปัญญาจริงๆ เปิดไปพลาง โมโหไปพลาง เกิดไปเจอเจ้าหน้าที่ขี้รำคาญเข้า มีหวังใบสมัครโดนลอยแพเกลื่อนแน่ อุตส่าห์หวังดี คิดเผื่อว่าบางคนอาจจะแสกนจดหมายนำกับ Resume มาเป็นไฟล์ภาพ เลยไม่อยากให้เสียโอกาสในการได้งาน

การตั้งชื่อไฟล์ที่แนบประกอบอย่างจดหมายนำและ Resume สำคัญไม่แพ้การตั้งชื่อเมล์เลยเมื่อบริษัทเปิดไฟล์พิจารณาใบสมัครแล้ว เกิดสนใจ เข้าตา ไฟล์นั้นจะถูกนำไป่อไฟล์จึงควรมีทั้งชื่อผู้สมัครและตำแหน่งที่สมัครอยู่ด้วยกัน เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ นางสาวหางาน ไม่เคยพลาด การตั้งชื่อไฟล์แบบนี้นอกจากอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทแล้ว ตัวคุณเองก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน หากไฟล์นี้ตกหล่นไปอยู่ที่ใด จะสามารถเรียกมาเก็บไว้ในโฟลเดอร์ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ได้….ไม่มีพลาดสมนามสกุลแน่นอน

ไฟล์จดหมายนำและ Resume ที่แนบ ควรอยู่ในรูปเอกสาร Microsoft Word ซึ่งเป็นโปรแกรมสากลที่ทุกบริษัทใช้กัน เอื้อสำหรับการเปิดอ่านและพิมพ์มากที่สุด ใน Resume ควรมีรูปถ่ายอยู่ด้วย เพื่อประโยชน์สำหรับการพิจารณาในบางตำแหน่ง แค่แสกน วางลงในResume ไม่จำเป็นต้องแนบไปอีกไฟล์

ถ้าไม่มีจดหมายนำ คุณต้องแจ้งตำแหน่งที่สมัครไว้ใน Resume หลายคนพลาดตรงจุดนี้ ส่งมาแค่ Resumeอย่างเดียว โดยไม่ระบุตำแหน่งที่ต้องการสมัคร หากคุณจบในสาขาที่ก้ำกึ่ง เจ้าหน้าที่เองก็ไม่สามารถตัดสินใจแทนคุณได้ ไม่รู้จะเก็บไว้ในโฟลเดอร์ชื่ออะไร อยากช่วยใจจะขาด แต่เดาใจไม่ถูกจริงๆ……..

3. สมัครผ่านเว็บไซต์ของบริษัท

ทุกวันนี้ มีหลายบริษัทใช้ช่องทางนี้กันมากขึ้น เช่น เทเลคอมเอเชีย แลนด์แอนด์เฮาส์ ซีเมนต์ 7-Eleven จากเมื่อก่อน มีแค่ประกาศตำแหน่งงานว่าง แจ้งให้ผู้สมัครทราบในเว็บไซต์เท่านั้น หากสนใจต้องส่งไปสมัครไปทางไปรษณีย์หรือทางอีเมล์

ในปัจจุบันแต่ละบริษัทเริ่มมีฐานข้อมูลของผู้สมัครงานเก็บไว้ในเว็บไซต์ของของตัวเองมากขึ้น โดยมีช่องให้ผู้สมัครคีย์ข้อมูลส่วนตัวเข้าไปเหมือนกับการสร้าง Resume ในเว็บไซต์หางานทั่วไป ทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนเสร็จสิ้น ข้อมูลของคุณจะถูกส่งไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของบริษัทโดยตรง เพื่อรอการพิจารณาต่อไป

ส่วนใหญ่ผู้สมัครด้วยวิธีนี้ทราบข่าวประกาศรับสมัครงานของบริษัทนั้นๆ มาก่อน จากช่องทางใดก็แล้วแต่ เมื่อสนใจจึงต้องการเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวบริษัท ทั้งประวัติ ผู้บริหาร โครงสร้างขององค์กร รูปแบบธุรกิจสินค้าและบริการ รวมทั้งผลประกอบการเพื่อเป็นข้อมูลแล้วบังเอิญได้พบว่ามีการสมัครผ่านเว็บไซต์จึงตัดสินใจสมัคร

การสมัครด้วยวิธีนี้ มีข้อดีที่คุณสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัททุกแง่ทุกมุมได้ก่อนการตัดสินใจสมัคร เป็นสิ่งดีที่คุณจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการสัมภาษณ์งาน กรณีที่คุณได้รับเลือกให้เข้ารับการสัมภาษณ์ แต่ฉันมักได้ยินคนบางคนบ่นไม่ชอบการสมัครงานแบบนี้เท่าไหร่ เพราะต้องคีย์ข้อมูลใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องการสมัครกับแต่ละบริษัท อยากสมัคร 10 บริษัท ก็ต้องคีย์ข้อมูลใหม่ซ้ำๆ น่าเบื่อถึง 10 ครั้ง แถมบางทีคีย์ข้อมูลเข้าไปเกือบเรียบร้อยแล้ว ระบบเกิดมีปัญหาดื้อๆ ซะอย่างนั้น จะคีย์ใหม่ก็ขี้เกียจ เลยกลับไปคลิกไปส่ง Resume ในเว็บไซต์สมัครงานแบบเดิมดีกว่า ง่ายดี ไม่เสียเวลา ได้ครั้งละหลายๆ บริษัท ข้อเสียอีกอย่างที่รู้มา…..บางบริษัทมักไม่อัพเดทส่วนนี้เลย ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน ทำให้ผู้สมัครไม่รู้ว่า ตำแหน่งที่บอกว่าว่างนั้นปัจจุบันยังว่างอยู่หรือเปล่า?

แล้วแต่ค่ะ ว่าคุณชอบ สะดวก และถนัดแบบไหนเมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามาให้เราได้ใช้เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการส่งข้อมูลในชีวิตประจำวันก็น่าลองใช้ดูนะถ้ามันจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง ที่ช่วยให้การสมัครงานของคุณง่ายขึ้นกว่าเดิม แถมมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย

ที่ผ่านมาคือช่องทางทั้งหมดที่คุณสามารถสมัครงานได้ข้อดี-ข้อด้อย และรายละเอียดปลีกย่อยก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคุณแล้วละว่า….จะถนัดและคิดว่าช่องทางไหนเหมาะกับตัวคุณ ไม่แนะนำให้เลือกเพียงช่องทางเดียว เพราะว่าจะเสียโอกาสนำเสนอความสามารถของตัวเองให้กับนายจ้างในอนาคตของคุณไป

เมื่อการโฆษณาสินค้าในปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงการใช้สื่อแบบบูรณาการ หรือการใช้สื่อแบบครบวงจร ทำให้การโฆษณานั้นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นแล้ว คุณเองก็เหมือนกัน ถ้าต้องการให้ใบสมัครของคุณเข้าถึงกลุ่ม (นายจ้าง) เป้าหมายมากที่สุด ช่องทางสมัครงานแบบบูรณาการ….ก็น่าจะช่วยคุณได้ไม่น้อย

**************************************

สมุดบันทึกการสมัครงาน คัมภีร์ประจำตัว…..

เมื่อคุณได้ลงสนามหางานจริง และเลือกใช้ช่องทางต่างๆ เพื่อสมัครงานตามที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ขอแนะนำอีกอย่างให้คุณมีไว้คือ สมุดบันทึกการสมัครงาน ถ้าคุณไม่มีสมุดเปล่า อาจต้องหาซื้อมาสักเล่ม ไม่ต้องใหญ่หรือหนามาก เพราะคุณคงไม่ใช้เวลาในการหางานมากนักหรอก(ถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบ)

สมุดบันทึกการสมัครงาน เป็นเหมือนคัมภีร์ที่ติดตัวคุณไปทุกที่ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงาน ข้อมูลหลักๆ ในนั้นคือ

– ตารางการสมัครงาน : ตำแหน่งงานบริษัท ช่องทาง และวันที่คุณสมัคร
– ตารางการนัดสัมภาษณ์งาน : ตำแหน่งงาน บริษัท เวลานัดหมาย สถานที่ ชื่อผู้ติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ และวันที่คุณได้รับการนัดหมาย
– ตารางการสัมภาษณ์งาน : ตำแหน่งงาน บริษัท เวลานัดหมาย สถานที่ ชื่อผู้ติดต่อกลับเงินเดือนที่ต่อรองไว้ และวันเวลาที่คุณไปสัมภาษณ์งาน
– รายชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ E-mailAddress ของบริษัทที่คุณสนใจสมัครงาน แต่ยังไม่ได้สมัคร
– ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่างๆ เกี่ยวกับการสมัครงานที่คุณได้รับทราบมา ไม่ว่าจาก CampusVisit คู่มือการหางาน อินเทอร์เน็ต หรือบุคคลอื่นๆเขียนไว้เป็นหมวดหมู่ เปิดหาง่ายเมื่อต้องการใช้

คัมภีร์เล่มนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครงานของคุณไว้หมด คุณสมบัติคงไม่ยิ่งหย่อนกว่า Smart Cardมากนัก……อยากใช้ข้อมูลอะไร มันจะเรียงหน้าสลอนออกมาให้คุณเห็น คุณจะรู้ว่าได้สมัครงานที่ไหนไว้บ้าง เมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์ จะได้ไม่งงและสับสนว่าบริษัทไหน ตำแหน่งอะไร เมื่อไหร่ เชื่อเถอะ ถึงเวลานั้นคุณสมัครไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 บริษัท แน่นอน ซึ่งถ้าไม่ได้จดไว้ รับรองไก่ตาแตกเป็นอย่างไร วันนั้นคุณจะได้รู้จักเสียที…..

สมุดบันทึกการสมัครงาน ควรเก็บไว้ในแฟ้มเดียวกับหลักฐานประกอบอื่นๆ ที่คุณต้องนำติดตัวเสมอเมื่อไปสมัครงาน

สรุปแล้วในแฟ้มมหัศจรรย์นี้ต้องมี หลักฐานประกอบการสมัครงานที่ถ่ายเอกสารไว้คลิปรวมเป็นชุดใบสมัครงานต้นแบบ รูปถ่าย เครื่องเขียน และพระเอกของเรา สมุดบันทึกการสมัครงาน เช็คดูให้แน่ใจว่าทุกอย่างในแฟ้มอยู่ครบก่อนออกปฏิบัติการ แฟ้มนี้ไม่ใช่กระเป๋าโดเรมอนที่โนบิตะอย่างคุณจะนั่งไทม์แมชีนกลับไปหยิบของที่ลืมได้ง่ายๆ

เมื่อพร้อมอย่างนี้แล้ว คุณจะรูจ มั่นใจมากขึ้นทุกครั้งที่ต้องออกลุยภาคสนาม ในขณะที่โอกาส พลาดของคุณกลับน้อยลง

จาก….กลยุทธ์เด็ด คว้างานดี ชีวิตนี้ไม่มีเตะฝุ่น โดย
ปนัฎดา สังข์แก้ว